ที่จังหวัดพัทลุง ช่างเล็ก ช่างแกะหนังตะลุงซึ่งเป็นช่างแกะหนังรุ่นที่สี่ในครอบครัวหนังตะลุงและนายหนังโผนฟ้า ดาราทอง ร่วมกันบุกเบิกหอศิลป์หนังตะลุง เพื่อให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดพัทลุงได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวของหนังตะลุง รวมถึงมีโอกาสทดลองแกะและเชิดหนังตะลุง 

dsc 1194

 

      นับจากปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ที่ศูนย์การเรียนรู้ หอศิลป์หนังตะลุงเปิดประตูต้อนรับผู้สนใจในศาสตร์และศิลป์ของหนังตะลุงให้เข้ามาเรียนรู้ด้วยความหวังที่จะส่งต่อองค์ความรู้ของตัวเองไปสู่คนรุ่นหลังให้มากที่สุด เรื่องราวของช่างเล็กและนายหนังโผนฟ้า ดาราทองถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของสามัญชนตัวเล็กๆ ที่ลุกขึ้นมาทำงานอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยทุนรอนของตัวเองซึ่งเชื่อว่าหากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความสนับสนุนอย่างเป็นระบบหอศิลป์แห่งนี้ก็จะมีความเข้มแข็งและสามารถทำงานต่อเนื่องได้ในระยะยาว

 

เดินทัวร์หอศิลป์หนังตะลุง แหล่งเรียนรู้บ้านๆ ที่รุ่มรวยด้วยเรื่องราว
dsc 1065

      ศูนย์การเรียนรู้ หอศิลป์หนังตะลุง ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษมตรงข้ามกับศาลหลักเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัดพัทลุงประมาณ 4 กิโลเมตร  #พิกัดเส้นทาง พื้นที่จัดแสดงแรกที่ผู้ชมจะได้พบเห็นเมื่อเข้ามาถึงถือโรงแสดงหนังตะลุงซึ่งเป็นเพิงมุงหลังคาเปิดโล่งขนาดใหญ่ ภายในมีจอหนังขนาดใหญ่ขึงไว้พร้อมเครื่องเสียง ขณะที่ด้านข้างอาคารทั้งสองด้านมีนิทรรศการถาวรเป็นป้ายไวนิลจัดแสดงไว้ ผนังด้านซ้ายมือ (หันหน้าเข้าจอ) จัดแสดงเรื่องราวและรูปภาพของตัวหนังตะลุงพร้อมประวัติย่นย่อ ขณะที่นิทรรศการด้านขวามือบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของศิลปะการเล่าเงาซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมในหลายๆ พื้นที่ของทวีปเอเชีย รวมถึงความเป็นมาของหนังตะลุงในพื้นที่ภาคใต้ สำหรับโรงหนังตะลุงนี้จะเปิดใช้งานเต็มรูปแบบเฉพาะเวลามีกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นหมู่คณะจำนวนมากเท่านั้น แต่ผู้เข้าชมสามารถเดินเข้ามาชมนิทรรศการที่อยู่ในโรงฉายหนังได้ตลอด  

       เมื่อเดินออกจากโรงฉายหนัง หากผู้เยี่ยมชมมองไปที่ฝั่งตรงข้ามก็จะพบกับเรือนไม้ยกสูงหลังหนึ่ง เรือนไม้นี้คือเรือนบูรพาจารย์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงครูหนังตะลุงในอดีตที่ได้สร้างคุณูปการแและวางรากฐานให้กับหนังตะลุงในจังหวัดพัทลุง บนศาลานอกจากจะมีแท่นบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วยังมีภาพเขียนของบุคคลที่มีความสำคัญต่อแวดวงหนังตะลุงของจังหวัดพัทลุงสองท่านด้วย ภาพเขียนฝั่งซ้ายมือเป็นรูปชายชราสวมแว่นไม่สวมเสื้อคือภาพวาดของช่างลาพ สอนวงศ์ ช่างทำหนังตะลุงซึ่งเป็นพ่อของช่างเล็ก โดยช่างลาพนับเป็นช่างแกะหนังรุ่นที่สามในตระกูล ส่วนภาพเขียนด้านขวามือที่เป็นภาพชายไว้หนวดสวมเสื้อสีขาว คือภาพวาดของ "หนังพร้อมน้อย ตะลุงสากล" ครูของนายหนังหลายๆ คนในจังหวัดพัทลุง ผู้เยี่ยมชมที่ขึ้นไปบนเรือนบูรพาจารย์สามารถหยอดเงินเพื่อสนับสนุนการทำงานของทางหอศิลป์ฯบนไหรับเงินบริจาคที่อยู่บนศาลาได้

teacher

      ถัดจากศาลาบูรพาจารย์ผู้เข้าชมจะพบบอร์ดจัดแสดงตัวหนังตะลุงที่ตั้งเรียงรายเป็นแนวยาว ตัวหนังตะลุงเหล่านี้เป็นตัวหนังตะลุงเก่าที่ช่างเล็กรวบรวมมาจากหลายๆ แหล่ง ทั้งตัวหนังตะลุงที่แกะสลักโดยช่างในภาคใต้  เช่น ช่างของพัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา และช่างจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากตัวหนังตะลุงที่ทำโดยช่างทำหนังในพื้นที่ภาคใต้ ช่างเล็กยังรวบรวมตัวหนังตะลุงจากพื้นที่อื่น เช่น ราชบุรีมาจัดแสดงไว้บนบอร์ดนี้ด้วย 

รูปหนังตะลุง

        ถัดจากส่วนจัดแสดงตัวอย่างหนังตะลุงจะเป็นศาลาสาธิตที่ผู้เยี่ยมชมสามารถทดลองทำหนังตะลุงและทดลองเชิดหนังตะลุงได้ จุดนี้ยังมีนายหนังโผนฟ้า ดาราทอง นายหนังประจำหอศิลป์ฯ แห่งนี้คอยต้อนรับและทดลองเชิดหนังตะลุงให้ผู้เยี่ยมชมได้ดูด้วย และไม่ว่าผู้เยี่ยมชมจะมาคณะเล็กหรือคณะใหญ่แค่ไหนทั้งช่างเล็กและนายหนังต่างพร้อมอธิบายและสาธิตการแสดงหนังให้ดูแบบจัดเต็ม หนึ่งในไฮไลท์ของพื้นที่จัดแสดงส่วนนี้นอกจากจะอยู่ที่การสาธิตฉายหนังตะลุงแล้ว ยังเป็นพื้นที่นักเรียนหรือผู้เยี่ยมชมใช้ในการทดลองแกะตัวหนังตะลุงด้วย ผลงานของนักเรียนบางส่วนยังถูกนำมาวางจำหน่ายเป็นของที่ระลึกเพื่อระดมทุนการทำงานของทางหอศิลป์ฯ ด้วย

ทดลองเชิดหนัง
 
      แม้ดูจากรูปลักษณ์ภายนอก หอศิลป์หนังตะลุงแห่งนี้จะไม่ได้ดูหรูหรา ไม่มีตึกอาคารปลูกสร้างถาวร ไม่มีห้องติดแอร์ แต่สถานที่แห่งนี้ก็รุ่มรวยด้วยเรื่องราวและคุณค่าทางวัฒนธรรม ช่างเล็กและนายหนังโผนฟ้า ดาราทองคือห้องสมุดมีชีวิตที่พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวและศาสตร์แห่งหนังตะลุงให้ผู้มาเยี่ยมชมอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย โดยช่างเล็กยังได้วาดลายเส้นตัวละครหนังตะลุงบางส่วนพร้อมคำอธิบายติดตามต้นเสาของทั้งที่ศาลาสาธิตและที่ส่วนจัดแสดงตัวหนังตะลุงโบราณ ที่สำคัญหอศิลป์ฯ แห่งนี้ยังรวบรวมตัวหนังตะลุงโบราณหาชมยากจากหลายพื้นที่มาจัดแสดงไว้ในที่เดียวกันด้วย    

      

ท่านสามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่   https://commonmuze.com/node/648  เรื่องและภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์