นำทาง

      ถนนที่ถูกขนาบข้างไปด้วยทะเลหลวงและทะเลน้อยเชื่อมต่อระหว่าง ๒ จังหวัดคือสงขลากับพัทลุง และเป็นถนนที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความสุข ด้วยวิถีธรรมชาติและวิวสวย ๆ ของทะเลสุดลูกหูลูกตา วิถีชีวิตควายน้ำ และนกนานาพันธุ์ ถนนที่ว่านี้คือ “ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550” อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

w2

  โดยตลอดเส้นทางจะมีวิวสวยๆ งามๆ และความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติให้ได้เห็นกันตอนขับรถ รวมถึงมีจุดจอดแวะให้ถ่ายรูป ซึ่งไฮไลท์เด่นๆ ก็คือทิวทัศน์ทะเลน้อยอันกว้างไกลสุดสายตา เหล่าบรรดานกน้ำมากมาย และหากโชคดีก็จะได้ยลโฉมฝูงควายน้ำที่หาดูได้ยากอีกด้วย

ความเป็นมา

      เป็นเส้นทางในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท โดยใช้ชื่อรหัสสายทาง พท. 3037 เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2550 เป็นสายทางที่สร้างตามแนวระหว่างทะเลน้อยกับทะเลหลวงของทะเลสาบสงขลา
ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างถนนลูกรังกันมาก่อนแต่มีปัญหาถนนพังชำรุดง่ายและเมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็ยังเป็นแนวขวางทางระบายน้ำระหว่างทะเลน้อยกับทะเลหลวง ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เป็นถนน (สะพาน) ที่ข้ามทะเลสาบที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

Screenshot 216 1

ซึ่งอยู่ระหว่างบ้านบ้านไสกลิ้งกับบ้านหัวป่า ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2546 แล้วเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2550 ในการก่อสร้างนั้นได้สร้างตามแนวถนนเดิมซึ่งอยู่ระหว่างทะเลหลวงกับทะเลน้อย เริ่มต้นจากมีการสร้างเป็นถนนดินลูกรัง ถมลงไปในเขตทะเลในช่วงที่ตื้น ๆ เพื่อเชื่อมให้เป็นพื้นดินต่อกัน โดยการริเริ่มของท่านพระครูกิตติวราภรณ์ เจ้าอาวาสที่วัดป่าลิไลย์ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ใช้เงินจากการทอดผ้าป่าบ้าง ทอดกฐินบ้าง ผู้ใจบุญบริจาคให้บ้าง แต่ก็ทำได้แค่ถนนลูกรังกับสะพานไม้เท่านั้น ต่อมาเมื่อนายสุรใจ ศิรินุพงศ์ ส.ส. สงขลา (ประมาณปี 2531) เลือดเนื้อเชื้อไขของผู้ใหญ่บ้านจวน ศิรินุพงศ์ คนทุ่งตะเครียะโดยกำเนิด ร่วมกับ ส.ส. พัทลุงอีก 3 คน คือนายวีระ มุสิกพงศ์ (นายวีระกานท์) นายโอภาส รองเงิน และนายพร้อม บุญฤทธิ์ ลงนามในหนังสือเสนอรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายข่ายประจำปี 2531 ของบประมาณก่อสร้างถนนเชื่อม จังหวัดพัทลุงกับจังหวัดสงขลาด้วยเหตุผลที่ว่า

1) เป็นการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว
2) เป็นการพัฒนาอาชีพการประมงน้ำจืด
3) เป็นเส้นทางลำเลียงวัสดุก่อสร้างที่จำเป็น
4) เป็นเส้นทางที่ประชาชน ในจังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช สตูล มีโอกาสนำผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่ายได้สะดวก
5) เป็นเส้นทางที่จะอำนวยความสะดวกในการพัฒนาทะเลสาบสงขลาให้บรรลุเป้าหมาย

ในที่สุดก็ได้รับงบประมาณ  ๑๓๕  ล้านบาท 

ข้อมูลอ้างอิง  ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้