เขานางชี : จิตรกรรมศิลปะพม่าสมัยอังวะบนแผ่นดินพัทลุงสมัยอยุธยา
ข้อมูลอ้างอิง สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา
เขานางชี ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๔ บ้านทุ่งข่า ตำบลพนมวังก์ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เขานางชีเป็นเขาหินปูนในหมวดหินชัยบุรี ถือกำเนิดขึ้นในช่วงยุคไทรแอสซิกซึ่งมีอายุราว ๒๑๐ - ๒๔๕ ล้านปีมาแล้ว เขานางชีวางตัวในแนวทิศเหนือ – ทิศใต้ มีความยาวประมาณ ๙๘๐ เมตร กว้างประมาณ ๔๗๐ เมตร จุดสูงสุดสูง ๑๓๖ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
จิตรกรรมศิลปะอังวะ
ภายในถ้ำพระเขานางชีพบภาพจิตรกรรมบนผนังจำนวน ๑๐ จุด เขียนภาพด้วยสีแดง เหลือง และตัดเส้นด้วยสีดำ คิดเป็นพื้นที่ ๒๔.๐๖๕ ตารางเมตร ภาพเหล่านี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดเขียนขึ้น แต่มีปรากฏมาตั้งแต่ก่อนรุ่นปู่ย่าตายายแล้ว จากการศึกษาพบว่าภาพที่ปรากฏเหล่านี้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตพุทธเจ้า และพระไสยาสน์ ซึ่งแสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะพม่าสมัยอังวะตอนปลาย ซึ่งร่วมสมัยกับสมัยอยุธยาตอนกลาง
จารึกบนผนังถ้ำที่ผนังถ้ำพระเขานางชี พบจารึกอักษรไทย ภาษาไทย สมัยอยุธยาเขียนคำว่า “โนกรรม” ซึ่งสันนิษฐานว่าย่อมาจากคำว่า “มโนกรรม” ซึ่งเป็นหลักธรรมใน “กุศลกรรมบถ” และคำว่า “พระพุทธเจ้าห่อนรู้ผู้ชำนะมาร”